ประวัติ ของ อาชิกางะ โยชิมิตสึ

วัยเยาว์

โยชิมิตสึเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1358 เป็นบุตรชายของโชกุน อาชิกางะ โยชิอากิระ โชกุนลำดับที่สองแห่งรัฐบาลโชกุนมูโรมาจิ กับนางคิ โนะ โยชิโกะ (ญี่ปุ่น: 紀良子 โรมาจิKi no Yoshiko) ซึ่งเป็นภรรยาน้อยของโยชิอากิระ เดิมโยชิมิตสึในวัยเยาว์มีชื่อว่า ชุงโอ (ญี่ปุ่น: 春王 โรมาจิShun-ō) ในค.ศ. 1367 โชกุนโยชิอากิระผู้เป็นบิดาล้มป่วยลงกระทันหันจนถึงแก่อสัญกรรม ใน ค.ศ. 1368 ชุงโอจึงผ่านพิธีเง็มปูกุได้รับชื่อว่า โยชิมิตสึ และได้สืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อจากบิดาด้วยอายุเพียงสิบปีเท่านั้น

เนื่องจากโชกุนโยชิมิตสึขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่อายุยังเยาว์ อำนาจการปกครองจึงตกอยู่ที่โฮโซกาวะ โยริยูกิ (ญี่ปุ่น: 細川 頼之 โรมาจิHosokawa Yoriyuki) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นคันเร (ญี่ปุ่น: 管領 โรมาจิKanrei) หรือผู้สำเร็จราชการแทนโชกุน มาตั้งแต่สมัยของโชกุนโยชิอากิระผู้เป็นบิดา โชกุนโยชิอากิระก่อนจะสิ้นใจ ได้เรียกทั้งโยชิมิตสึและโยริยูกิเข้าพบ โชกุนโยชิอากิระกล่าวแก่โยริยูกิว่า "ข้ามอบบุตรของข้าให้แก่ท่าน" และกล่าวแก่โยชิมิตสึบุตรชายว่า "ข้ามอบบิดาคนใหม่ให้แก่เจ้า"[1] ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นสมัยของโชกุนโยชิมิตสึนั้นยังคงมีหลายขั้วอำนาจ อยู่ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ญี่ปุ่น: 南北朝時代 โรมาจิNanboku-chō jidai) รัฐบาลโชกุนมูโรมาจิซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่นครเคียวโตะ ให้การสนับสนุนราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ในขณะที่ราชวงศ์ฝ่ายใต้แยกตัวเป็นอิสระประทับอยู่ที่เมืองโยชิโนะ ทางเกาะคีวชูนั้นมีเจ้าชายคเนโยชิ (ญี่ปุ่น: 懐良親王 โรมาจิKaneyoshi shinnō) ควบคุมอยู่ และทางภูมิภาคคันโตที่เมืองคามากูระ คันโตคุโบ (ญี่ปุ่น: 関東公方 โรมาจิKantō kubō) ก็พร้อมที่จะแยกตนเป็นอิสระ

คฤหาสน์ ฮานะ โนะ โกโชะ

ใน ค.ศ. 1369 คุซูโนกิ มาซาโนริ (ญี่ปุ่น: 楠木 正儀 โรมาจิKusunoki Masanori) แม่ทัพของราชวงศ์ฝ่ายใต้ แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายรัฐบาลโชกุนฯ ค.ศ. 1370 คันเรโยริยูกิส่งอิมางาวะ ซาดาโยะ (ญี่ปุ่น: 今川 貞世 โรมาจิImagawa Sadayo) นำทัพของรัฐบาลโชกุนฯ ไปปราบเจ้าชายคาเนโยชิที่เกาะคีวชู ใน ค.ศ. 1378 คฤหาสน์แห่งใหม่ของโชกุนโยชิมิตสึสร้างขึ้นแล้วเสร็จ เรียกว่า ฮานะ โนะ โกโชะ (ญี่ปุ่น: 花の御所 โรมาจิHana no Gosho) หรือ มูโรมาจิ โดะโนะ (ญี่ปุ่น: 室町殿 โรมาจิMuromachi dono) ซึ่งจะกลายเป็นที่พำนักของโชกุนตระกูลอาชิกางะไปจนตลอดยุคมูโรมาจิ

ดำรงตำแหน่งโชกุน

ตลอดสิบปีช่วงต้นสมัยของโชกุนโยชิมิตสึ อำนาจในการปกครองตกอยู่ที่คันเรโยริยูกิ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1379 คันเรโยริยูกิถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้โชกุนโยชิมิตสึมีโอกาสขึ้นมามีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่ เนื่องจากรัฐบาลโชกุนฯ ให้การสนับสนุนราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ในการต่อสู้กับราชวงศ์ฝ่ายใต้ ทำให้รัฐบาลโชกุนอาชิกางะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักเกียวโต ใน ค.ศ. 1381 พระจักรพรรดิโกะ-เอ็นยูเสด็จไปทรงเยี่ยมโชกุนโยชิมิตสึที่คฤหาสน์ฮานะโนะโกโชะ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่พระจักรพรรดิเสด็จไปหาโชกุนด้วยพระองค์เอง

การสูญสิ้นอำนาจของคันเรโยริยูกิทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ค.ศ. 1382 คุซูโนกิ มาซาโนริ แปรพักตร์กลับไปเข้ากับราชวงศ์ฝ่ายใต้อีกครั้ง และ ค.ศ. 1395 อิมางาวะ ซะดะโยะ ถูกปลดจากการเป็นผู้นำทัพในเกาะคีวชู คุซูโนกิ มาซาโนริ พ่ายแพ้ต่อทัพของรัฐบาลโชกุนฯ ใน ค.ศ. 1385 และมาซาโนริถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1389 ทำให้ราชวงศ์ฝ่ายใต้ขาดแม่ทัพที่เข้มแข็ง ใน ค.ศ. 1391 ตระกูลยามานะ ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอำนาจถือครองที่ดินจำนวนมากในภูมิภาคชูโงกุ นำโดยยามานะ อุจิกิโยะ (ญี่ปุ่น: 山名 氏清 โรมาจิYamana Ujikiyo) ถือโอกาสยกทัพเข้าเมืองเกียวโตเพื่อที่จะยึดอำนาจจากรัฐบาลโชกุนฯ ให้แก่ราชวงศ์ฝ่ายใต้ เรียกว่า สงครามปีเมโตกุ (ญี่ปุ่น: 明徳の乱 โรมาจิMeitoku no ran) แต่ล้มเหลว

ใน ค.ศ. 1392 โชกุนโยชิมิตสึจัดให้มีการเจรจาข้อตกลงระหว่างราชวงศ์ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยพระจักรพรรดิโกะ-คาเมยามะแห่งราชวงศ์ฝ่ายใต้ทรงยินยอมมอบเครื่องราชกกุฎภัณฑ์สามอย่าง (Three Sacred Treasures) อันเป็นสัญลักษณ์ของราชสมบัติญี่ปุ่น ให้แก่พระจักรพรรดิโกะ-โคะมัตสึแห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ภายใต้เงื่อนไขว่าพระราชวงศ์ทั้งสองสายจะผลัดกันขึ้นครองราชสมบัติที่นครเกียวโต เท่ากับเป็นการยอมรับว่าพระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโตนั้นเป็นพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นแต่เพียงพระองค์เดียว เป็นการยุติยุคราชวงศ์เหนือใต้ อันเป็นยุคสมัยแห่งความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานเป็นเวลาประมาณหกสิบปี

ดำรงตำแหน่งโอโงโชะ

ด้วยความดีความชอบของโชกุนโยชิมิตสึ ทำให้ใน ค.ศ. 1394 โชกุนโยชิมิตสึได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ไดโจไดจิง (ญี่ปุ่น: 太政大臣 โรมาจิDaijō-daijin) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดในราชสำนักญี่ปุ่นรองจาก คัมปะกุ และในปีเดียวกันนั้น โชกุนโยชิมิตสึสละตำแหน่งโชกุนให้แก่อาชิกางะ โยชิโมชิผู้เป็นบุตรชาย โยชิมิตสึดำรงตำแหน่งเป็น โอโงโชะ (ญี่ปุ่น: 大御所 โรมาจิŌgosho) หรืออดีตโชกุนแทน พร้อมทั้งบรรพชาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซนได้รับฉายาว่า โดงิ (ญี่ปุ่น: 道義 โรมาจิDōgi) ในปีค.ศ. 1395

คฤหาสน์คิงกากุ ต่อมาคือ วัดคิงกากุ

แม้ว่าจะสละตำแหน่งโชกุนให้แก่บุตรชายแล้ว แต่อำนาจการปกครองยังคงอยู่ที่โอโงโชะโยชิมิตสึ ใน ค.ศ. 1397 โอโงโชะโยชิมิตสึซื้อที่ดินบนเขาคิตายามะ (ญี่ปุ่น: 北山 โรมาจิKitayama) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครเกียวโต เพื่อสร้างเป็นคฤหาสน์หลังใหม่ให้แก่ตนเองเรียกว่า คฤหาสน์คิงกากุ (ญี่ปุ่น: 金閣 โรมาจิKinkaku) หรือ คฤหาสน์ศาลาทอง (ปัจจุบันคือวัดคิงกากุ) ค.ศ. 1399 ชูโง(เจ้าครองแคว้น)โออูจิ โยชิฮิโระ (ญี่ปุ่น: 大内 義弘 โรมาจิŌuchi Yoshihiro) ก่อการกบฏต่อรัฐบาลโชกุนฯ และสร้างป้อมปราการขึ้นที่เมืองซากาอิ (ญี่ปุ่น: 堺 โรมาจิSakai อยู่ในเขตเมืองโอซะกะในปัจจุบัน) เรียกว่า สงครามปีโอเอ (ญี่ปุ่น: 応永の乱 โรมาจิŌei no ran) โยชิฮิโระยกทัพมายังเมืองเกียวโตแต่โอโงโชะโยชิมิตสึสามารถป้องกันเมืองได้ โยชิฮิโระล่าถอยทัพไปยังเมืองซากาอิ โยชิมิตสึเข้ายึดเมืองซากาอิได้ และโยชิฮิโระคว้านทองฆ่าตัวตาย

ใน ค.ศ. 1401 โอโงโชะโยชิมิตสึแต่งคณะทูตเดินทางไปยังนครปักกิ่งเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนราชวงศ์หมิง ปีต่อมา ค.ศ. 1402 จักรพรรดิเจี้ยนเหวินทรงแต่งตั้งให้โยชิมิตสึดำรงตำแหน่งเป็น "กษัตริย์แห่งญี่ปุ่น" (ญี่ปุ่น: 日本国王 โรมาจิNihon-koku-ō) ในการติดต่อสัมพันธ์กับราชสำนักจีน เป็นการเริ่มต้นนำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ระบอบบรรณาการจิ้มก้อง

สมัยของโชกุนโยชิมิตสึเป็นสมัยแห่งความรุ่งเรืองทางด้านศิลปะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในสมัยมูโรมาจิ เรียกว่า สมัยวัฒนธรรมคิตายามะ (ญี่ปุ่น: 北山文化 โรมาจิKitayama-bunka) ประกอบกับการติดต่อทางการทูตกับจีนทำให้รัฐบาลโชกุนฯ เปิดรับวัฒนธรรมจีน อันได้แก่ พุทธศาสนานิกายเซน พิธีชงชา ศิลปะการจัดสวน เป็นต้น โยชิมิตสึอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเซ็น สำนักรินไซ (ญี่ปุ่น: 臨済 โรมาจิRinzai)

โยชิมิตสึถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1408 ขณะอายุได้ 49 ปี หลังจากที่ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว โยะชิสึได้รับชื่อว่า โรกูอัง-อิง (ญี่ปุ่น: 鹿苑院 โรมาจิRokuan-in) และที่พำนักคฤหาสน์ศาลาทองนั้น ได้รับการยกขึ้นให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเซ็น ชื่อว่า วัดโรกูอัง (ญี่ปุ่น: 鹿苑寺 โรมาจิRokuan-ji)

ใกล้เคียง

อาชิกางะ อาชิกางะ ทากาอูจิ อาชิกางะ โยชิมิตสึ อาชิกางะ โยชิมาซะ อาชิกางะ โยชิซูมิ อาชิกางะ โยชิตาเนะ อาชิกางะ โยชิฮารุ อาชิกางะ โยชิโนริ อาชิกางะ โยชิโมจิ อาชิกางะ โยชิคัตสึ